Save Energy, Save Money & Save Earth
เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัวแล้ว หากบ้านของคุณไม่ได้ผ่านการออกแบบบ้านให้สอดรับกับธรรมชาติภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวเกือบตลอดทั้งปี เมื่อไม่มีการวางแผนงานก่อสร้างให้ดี บ้านที่คาดหวังไว้ว่าจะเป็นสถานที่ให้เป็นร่มเงา อาจกลายเป็นเตาอบดีๆ ได้เช่นกัน วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับวัสดุกันความร้อนที่หาซื้อได้ง่าย มีจำหน่ายตามศูนย์จำหน่ายวัสดุก่อสร้างทั่วไป พร้อมอัปเดตนวัตกรรมล้ำๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นบ้านแห่งอนาคตอย่างแท้จริง รับประกันได้ว่าอุณหภูมิภายในบ้านของคุณจะเย็นสบาย และประหยัดการใช้พลังงานกว่าบ้านทั่วไปอย่างแน่นอน
มาดูกันว่า 5 ไอเท็มเด็ดๆ ที่เป็นวัสดุกันความร้อนประหยัดไฟเบอร์ 5 มีอะไรกันบ้าง
หลังคาสะท้อนความร้อน
วัสดุหลังคาหรือกระเบื้องหลังคาที่มีการเคลือบสีสะท้อนความร้อนมาให้ จะสามารถป้องกันแสงแดดได้ดีกว่ากระเบื้องหลังคาที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบสี แต่หากวัสดุหลังคาที่ติดตั้งไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะเดี๋ยวนี้มีแผ่นสะท้อนความร้อนติดตั้งใต้หลังคาเป็นเสมือนเกราะป้องกัน ยกตัวอย่างเช่น หลังคาคอนกรีต SCG รุ่น Neustile X-Shield Heat BLOCK ด้วยนวัตกรรมใหม่ล่าสุดบนผืนกระเบื้องสุดเนี้ยบในเฉดสีเข้ม ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับบ้านสไตล์โมเดิร์นในปัจจุบัน โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสะท้อนรังสีความร้อนได้ดีกว่าสูตรเดิมถึง 3.5 เท่า ทำให้ประหยัดค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศสูงสุด 15% ตลอดจนการเคลือบสีสูตรใหม่ เพิ่มพลังการยึดเกาะของชั้นสีและชั้นเคลือบของกระเบื้องหลังคาทำให้สีสวยทนทานยาวนานกว่าถึง 3 เท่า
โถงหลังคาสูงโปร่งมีฉนวนกันร้อน
โถงหลังคาเปรียบเสมือนพื้นที่กักเก็บความร้อนก่อนกระจายเข้าสู่ภายในบ้าน ยิ่งโถงหลังคามีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่พื้นที่กักเก็บความร้อนจะยิ่งมากขึ้น แต่หากมีพื้นที่กักเก็บน้อยความร้อนจะไหลผ่านเข้าภายในบ้านได้อย่างรวดเร็ว โดยปกติบ้านทั่วไปจะนิยมทำฝ้าเพดานเพื่อความสวยงาม นอกจากความสวยงามแล้ว ฝ้าเพดานยังเป็นส่วนป้องกันความร้อนจากโถงหลังคาได้อีกชั้นด้วย และหากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ควรมีติดตั้งฉนวนกันร้อน “Stay Cool” ฉนวนใยแก้วที่ถูกออกแบบมาสำหรับติดตั้งเหนือฝ้าเพดานโดยเฉพาะ มีคุณสมบัติป้องกันความร้อนที่จะผ่านเข้ามา เนื้อฉนวนรอบด้านหุ้มด้วยแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์จึงทนทานและทำหน้าที่ช่วยสะท้อนความร้อนออกไป ยิ่งฉนวนมีความหนามากก็ยิ่งกันความร้อนได้ดี ช่วยเพิ่มศักยภาพในการกันร้อนได้อีกหลายเท่าตัว
ฝ้าชายคาระบายอากาศได้
ฝ้าชายคาที่ดีควรเป็นฝ้าที่สามารถระบายอากาศได้ เพื่อให้มวลอากาศร้อนภายในโถงหลังคาได้ถ่ายเทอยู่เสมอ และยังเป็นช่องลมให้อากาศใหม่ได้เข้ามาแทนที่อากาศร้อนเดิม จุดที่ต้องระมัดระวังในการนำฝ้าชายคาที่มีรูระบายอากาศมาใช้ รูดังกล่าวไม่เพียงแค่เป็นช่องลมเท่านั้น แต่อาจจะเป็นช่องทางเข้าของสัตว์และแมลงต่าง ๆ ได้ จึงแนะนำให้หาตะแกรงมาติดทับไว้อีกชั้น หรือเลือกใช้ฝ้าระบายอากาศที่มีตะแกรงป้องกันติดตั้งมาให้พร้อมใช้งาน เพิ่มความสะดวกให้กับงานติดตั้ง ทั้งนี้ฝ้าชายคาสมาร์ทบอร์ดก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ นอกจากจะมีหลายรุ่นหลายแบบที่ให้ความสวยงานด้วยแท็กเจอร์ที่แตกต่างกัน และสามารถเลือกได้ตรงตามสไตล์ของบ้านเเล้ว ยังมีคุณสมบัติเด่นในด้านทนความชื้น แข็งแรงทนทาน ปลวกไม่กิน เป็นวัสดุที่ผสมผสานความเเข็งแกร่งเเละยืดหยุ่นในเนื้อเดียวกัน
สีทาผนังสะท้อนความร้อน
สีทาผนังบ้านที่เหมาะกับบ้านเย็นควรเลือกสีโทนอ่อน เพราะสีโทนอ่อน เช่น สีขาว สีครีมหรือสีใดๆ ที่มีความอ่อนใกล้เคียงสีขาว จะมีคุณสมบัติสะท้อนความร้อนได้ดีกว่าสีโทนเข้ม ส่วนสีโทนเข้ม เช่น สีเทา ดำ หรือสีใดๆ จะมีคุณสมบัติดูดซับความร้อน แต่หากต้องการทาสีบ้านด้วยสีโทนเข้ม แนะนำให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์สีทาบ้านที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน สีชนิดดังกล่าวจะมีส่วนผสมของเซรามิก มีความเกลี้ยงเรียบเนียนของผิวสีที่ดีกว่าสีทั่วไป จึงสามารถสะท้อนความร้อนได้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สีที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 อาทิ สีเบเยอร์คูลซุปเปอร์ชิลด์ และที่เก๋สุดๆ คือการปรับโทนสีลดความร้อน ผ่าน TOA SuperShield เพียงแค่คลิ๊กเข้าไปที่เว็บไซต์ คุณก็สามารถเลือกได้ว่าสีใดเหมาะกับบ้าน แถมยังช่วยคำนวณอัตราการประหยัดไฟจากเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ยังสามารถบอกรุ่นและชนิดของสีเพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถไปซื้อสีได้อย่างถูกต้อง โดยจะมีตัวเลขค่า R แสดงอยู่ในทุกสี โดยตัวเลขค่า R ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงว่ากันความร้อนได้มากขึ้นเท่านั้น
โดยได้นำค่าการคำนวนดังกล่าวมาจาก Energy Plus ซึ่งเป็น Program ที่พัฒนาและสนับสนุนโดยกระทรวงพลังงาน สหรัฐอเมริกา ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะคำนวณบนพื้นฐานอาคารที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ มีจำนวน 4 ห้องนอน 2 ชั้น และมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 220 ตารางเมตร โดยมีผู้พักอาศัยอยู่จำนวนทั้งสิ้น 4 คนและใช้เครื่องปรับอากาศที่มีการปรับอุณหภูมิไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส
ผนังบ้านเย็นด้วยอิฐมวลเบา
ข้อดีของอิฐมวลเบา คือ ด้วยขนาดก้อนที่ใหญ่สามารถก่อผนังได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่ต้องใช้แรงคนงานมากช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันอิฐมวลเบาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทย เป็นอิฐมวลเบา Q-CON มีขนาด 20 ซ.ม. x 60 ซ.ม. และมีความหนาให้เลือกตั้งแต่ 7.5 ซม. – 25 ซม. ยิ่งมีตัวเลขความหนามาก คุณสมบัติกันความร้อนจะยิ่งมากขึ้น โดยค่าเฉลี่ยของอิฐมวลเบา Q-CON สามารถกันความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญ 4-8 เท่า จึงช่วยลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกสู่ภายในอาคาร ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากขนาดเครื่องปรับอากาศที่เล็กลงและลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 30%
วัสดุต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้แนะนำกันโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง แต่ทุกวัสดุล้วนผ่านมาตรฐานการรับรองจากกระทรวงพลังงาน ได้รับฉลาก Energy Saving เบอร์ 5 ความหมายของฉลากดังกล่าว จึงคล้ายๆ กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน วัสดุก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน เมื่อสามารถช่วยให้อุณหภูมิภายในบ้านเย็นขึ้นได้ ผู้พักอาศัยสบายกายสบายใจ และไม่ต้องกังวลกับค่าไฟสิ้นเดือนอีกต่อไป