Check-list จุดสำคัญรับหน้าฝน

Check-list

จุดสำคัญรับหน้าฝน “ดูแลบ้านให้ปลอดภัย รับมือไหวแม้ฝนกระหน่ำ” มาดูกันว่าจุดไหนเป็นจุดเสี่ยง เพื่อเตรียมรับมือกับทุกปัญหาที่จะมาพร้อมกับสายฝนกันค่ะ โดยเริ่มกันที่โครงสร้างหลักของบ้าน รวมไปถึงส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้น้ำรั่วซึมเข้าบ้านได้ ตลอดจนการต่อเติมและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

  1. เริ่มตั้งแต่หลังคา ฝ้า ผนัง
    3 จุดสำคัญที่มักเป็นปัญหาอยู่ทุกๆ ปี “หลังคารั่ว” นับเป็นปัญหาคลาสสิกในช่วงหน้าฝนเลยก็ว่าได้ ซึ่งผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะพบกับปัญหาหลังจากฝนตกลงมาแล้ว ดังนั้นเราต้องหมั่นสำรวจว่ามีจุดไหนบนหลังคาบ้างที่มีรอยแตกร้าว มีคราบตะไคร่น้ำ หรือสังเกตจากคราบน้ำบนฝ้าเพดานหรือผนังก็ได้ ถ้าเห็นรอยน้ำเป็นด่างเป็นดวง ประเมินได้ว่าเกิดจากความชื้น ควรรีบตรวจสอบและซ่อมแซมแก้ไขทันที ปัจจุบันมีนวัตกรรมอย่างระบบครอบหลังคาอบแห้ง และระบบครอบผนังสำเร็จรูป ซึ่งเป็นตัวช่วยชั้นดีไม่ให้น้ำรั่วซึมเข้ามาได้
  2. เรื่องพื้นๆ สำคัญเสมอ
    ช่วงที่ฝนตกติดต่อกัน บริเวณพื้นที่น้ำฝนกระเซ็นใส่อย่างต่อเนื่องมักเกิดคราบตะไคร่น้ำและเปียกชุ่ม เสี่ยงต่อการลื่นล้มได้ง่าย เราจึงต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกวัสดุสร้างบ้าน ถ้าเป็นชานบ้าน เฉลียง และทางเดินนอกอาคาร ควรเลือกวัสดุปูพื้นหรือกระเบื้องเนื้อหยาบ ไม่ลื่นง่ายเมื่อเปียกน้ำ สำหรับพื้นในอาคารบ้านเรือน ต้องเช็ดทำความสะอาดให้แห้งอยู่เสมอ ส่วนพื้นนอกอาคารหากมีตะไคร่น้ำจับต้องใช้แปรงขัด เพื่อความสะอาดของบ้านและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย
  3. รางน้ำสิ่งที่ควรมี
    เตรียมรางน้ำฝนให้พร้อมใช้งาน หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญสำหรับการจัดการน้ำฝน และป้องกันไม่ให้น้ำไหลลงรอบๆ ตัวบ้านจนกระเซ็นมาถูกผนังและพื้นเสียหาย ช่วยระบายน้ำฝนให้ไหลไปในทิศทางที่เหมาะสม และกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ประโยชน์อื่นๆ ในช่วงเวลานี้ ควรตรวจสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำของรางน้ำฝน ทำความสะอาดกำจัดเศษใบไม้ เศษขยะต่างๆ ออกให้หมด หากเราละเลยตรงจุดนี้ เมื่อฝนกระหน่ำ น้ำฝนที่คั่งค้างอยู่ในรางน้ำจะระบายไม่ได้ อาจเอ่อล้นรั่วซึมและไหลย้อนเข้ามาสู่ตัวบ้านได้ง่ายๆ
  4. ระบบท่อทุกส่วนของบ้าน
    ท่อระบายน้ำนั้นมีหลายแบบ ทั้งท่อระบายน้ำภายในบ้าน ท่อระบายน้ำออกข้างบ้านและบริเวณหน้าบ้าน ควรทำความสะอาดเพราะท่อระบายน้ำมักมีเศษใบไม้ หรือโคลนสะสมจนทำให้ท่อระบายน้ำเกิดการอุดตัน ตักเศษดินเศษโคลนออกจากท่อเพื่อเป็นทางระบายน้ำได้สะดวก และที่สำคัญอีกส่วนของบ้านคือ ระเบียงหรือเฉลียงที่ต้องล้างและทำความสะอาดเช่นกัน
  5. ชายคากันสาด
    การต่อเติมชายคาหรือกันสาดนั้นเราสามารถทำได้กับประตูบ้าน หน้าต่าง ผนังหรือส่วนใดก็ตามที่ฝนสามารถสาดเข้าไปถึง ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์ภายในบ้านเราเปียกชื้น การต่อเติมกันสาดถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันความเสียหายที่จะตามมาทั้งนี้การติดตั้งกันสาด สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรกคือ น้ำหนักของกันสาดซึ่งโครงสร้างบ้านสามารถรองรับได้ กันสาดมีลักษณะการใช้งานอยู่ด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกคือใช้งานถาวร มีอายุการใช้งานยาวนานคงทน เสียค่าซ่อมแซมน้อย แต่ส่วนใหญ่มีน้ำหนักมากและค่าก่อสร้างสูง ได้แก่ แบบเหล็กอลูมิเนียม คอนกรีตเสริมเหล็ก กระเบื้องกระดาษ ไวนิล โพลีคาร์บอเนต และไฟเบอร์กลาส ฯลฯ ส่วนแบบใช้งานชั่วคราว อายุการใช้งานไม่นาน ต้องซ่อมแซมบ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่มีน้ำหนักเบา ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติกว่า โดยสามารถติดตั้งรื้อถอนได้รวดเร็วรวมถึงราคาถูกกว่า เช่น แบบมู่ลี่ม้วนไม้ไผ่ ผ้าใบในลักษณะมู่ลี่หรือใช้โครงเหล็ก
  6. ย้ายเฟอร์นิเจอร์
    ถึงเวลาเฟอร์นิเจอร์เอ้าท์ดอร์ทั้งหลายต้องมูฟ แม้ว่าเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้จะทนทานต่อแสงแดดสายฝน แต่เมื่อโดนฝนเป็นเวลานานๆ เข้า จะทำให้เฟอร์นิเจอร์เสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนด ดังนั้นเพื่อป้องกันการชำรุดเสียหาย เราควรย้ายเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้เพื่อหลบฝน หรือหาผ้าใบมาคลุมเมื่อฝนตกก็ได้ แค่นี้เราก็สามารถยืดอายุการใช้งานของใช้ต่างๆ ภายนอกบ้านได้แล้ว
  7. ตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่
    ควรสังเกตกิ่งไม้ใหญ่หรือต้นไม้ที่อยู่ติดกับหลังคาบ้านหรือตัวบ้าน เพราะกิ่งไม้ใหญ่ๆ อาจจะเป็นปัญหาให้กับบ้านของเราได้ เมื่อเกิดพายุ ลมแรง กิ่งไม้เหล่านี้อาจจะหักหรือโค่นล้มลงมาทับหรือฟาดกับตัวบ้านจนเกิดความเสียหาย ฉะนั้นเราควรที่จะจัดการกับกิ่งไม้ใหญ่ โดยการตัดทอนตกแต่งไม่ให้เป็นปัญหา